2022.07.25 | เอเชีย

หัวเว่ย จับมือ มจธ. จัดตั้งสถาบันการศึกษาพลังงานสีเขียวแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

หัวเว่ย จับมือ มจธ. จัดตั้งสถาบันการศึกษาพลังงานสีเขียวแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก    (จากซ้ายไปขวา) ดร.วรวรรธน์ นาคะวิโร ผู้อำนวยการระดับภูมิภาคด้านระบบไฟฟ้า ศูนย์เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ นายเอ็ดวิน เดนเดอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ (CIO) กลุ่มธุรกิจ พลังงานดิจิทัล และ นายโลแกน ยู กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจ พลังงานดิจิทัล จาก บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ ผศ. ดร. ประเสริฐ คันธมานนท์ รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหาร ผศ. ดร. มณฑิรา นพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายอุตสาหกรรมและภาคีความร่วมมือ และ ผศ. ดร.สุเมธ เนติลัดดานนท์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

[กรุงเทพฯ รุงเทพฯ ประเทศไทย 21 กรกฎาคม 2565] กลุ่มธุรกิจ พลังงานดิจิทัล (Digital Power) บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดตั้งสถาบันการศึกษาพลังงานสีเขียว (Green Energy Academy) แห่งแรกในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีเป้าหมายที่จะปลูกฝังความรู้และความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานดิจิทัลและพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ให้แก่เยาวชน เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงานและส่งเสริมความยั่งยืนให้แก่ประเทศไทย

นายโลแกน ยู กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจ พลังงานดิจิทัล บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด และ ผศ. ดร. ประเสริฐ คันธมานนท์ รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Understanding) ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นความร่วมมือระยะยาวระหว่าง บริษัท หัวเว่ย และ มจธ. และยังถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของประเทศไทยในการเข้าสู่ยุคความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)

ภายใต้ความร่วมมือนี้ ทั้งสองฝ่ายจะให้การสนับสนุนเพื่อพัฒนาอุปกรณ์การเรียนการสอนและบทเรียนทั้งหมด 3 ระดับ โดยจะนำเสนอความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ ไปจนถึงความรู้ด้านการติดตั้งและการออกแบบโซลาร์รูฟท็อปในระดับครัวเรือนและระดับอุตสาหกรรม เช่น โซลาร์ฟาร์ม และโซลาร์ลอยน้ำ เป็นต้น โดยการจัดตั้งสถาบันการศึกษาพลังงานสีเขียวแห่งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปูเส้นทางสายอาชีพในอนาคตให้แก่นักศึกษา และพัฒนาบุคคลากรจากผู้สำเร็จการศึกษามาเป็นหัวหน้าด้านเทคนิคที่มีประสบการณ์

“หัวเว่ย ดิจิทัล เพาเวอร์ มุ่งมั่นที่จะผสานรวมเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับอิเล็กทรอนิกส์กำลัง (Power Electronics) เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานและสร้างอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ในปัจจุบัน โซลูชันของเราได้ถูกติดตั้งอยู่บนโซลาร์รูฟท็อปและโซลาร์ฟาร์มรวมกว่า 2.4 จิกะวัตต์ (GW) และยังมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในประเทศไทยกว่า 6.72 ล้านตัน ด้วยประสบการณ์และนวัตกรรมที่เรามี เราหวังที่จะมอบความรู้และโซลูชัน FusionSolar Smart PV เพื่อสร้างสะพานเชื่อมระหว่างเทคโนโลยี ICT และสถาบันการศึกษา โดยหัวเว่ยและ มจธ. ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาบุคคลากรที่มีความสามารถผ่านโครงการนี้ เพื่อตอบสนองเทรนด์พลังงานสะอาดและความต้องการของบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในสายอาชีพนี้ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศไทยทั้งในปัจจุบันและในอนาตค” นายโลแกน ยู กล่าว

ผศ.ดร. ประเสริฐ คันธมานนท์ กล่าวเพิ่มเติม “เราหวังอย่างยิ่งว่าการร่วมมือกันครั้งนี้จะนำมาซึ่งบทเรียนเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ที่ครอบคลุม โดยจะเปิดสอนแก่นักศึกษาหรือบุคคลทั่วไปที่มีความรู้เทียบเท่าระดับปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ในชั้นปีที่ 3 รวมทั้งมอบประสบการณ์ตรงให้กับผู้เข้าเรียนผ่านห้องเรียนพลังงานสีเขียวแห่งแรกในประเทศไทยที่มาพร้อมกับโซลูชัน FusionSolar Smart PV รุ่นล่าสุดจากหัวเว่ย นอกจากนี้ สถาบันการศึกษาพลังงานสีเขียวยังพร้อมมอบโอกาสการฝึกงานภายใต้แผนก พลังงานดิจิทัล บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ผมเชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษากว่า 200 ท่าน ในอีก 3 ปีข้างหน้า และช่วยพัฒนาบุลคลากรที่มีความสามารถให้แก่ประเทศไทยที่กำลังมุ่งสู่ยุคปลอดคาร์บอนในอนาคต”

หัวเว่ยและ มจธ. หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความรู้พื้นฐานและประสบการณ์ด้านพลังงานสีเขียวแก่นักเรียนให้มากที่สุดก่อนจะก้าวเข้าสู่โลกของการทำงาน และมุ่งมั่นที่จะดำเนินโครงการนี้ต่อไปตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นของเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย